ประเด็นร้อน

จนท.รัฐเอี่ยวโกงข้าว 783 คดี

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 18,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์ - -

 

อคส.ตื่นฟ้องแพ่งคดีข้าว ลั่นยื่นโนติสให้ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว 127 สัญ ญา ภายในวันที่ 20 ก.ค. ส่วนอีก 117 สัญญาจ่อคิวยื่น 15 ส.ค. สำทับหากยื้อเรื่องส่งฟ้องศาลในสิ้น ก.ย.ทันที ผงะ! ผลสอบคดีข้าวมีเจ้าหน้าที่รัฐพัวพันถึง 783 คดีจาก 884 คดี เสียหายนับแสนล้าน อคส.สุดเข้มขนข้าวหลังชนะประมูล

 

เมื่อวันอังคาร พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า การฟ้องแพ่งผู้กระทำความผิดในโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2551/52, 2554/55, 2555/56 และ 2556/57 ว่า อคส.ได้ตรวจสอบพบว่ามีคู่สัญญาของ อคส.ที่กระทำความผิด 244 สัญญา โดยคู่สัญญามีทั้งบริษัทตรวจสอบคุณภาพ (เซอร์เวเยอร์) และเจ้า ของคลังสินค้าที่รัฐเช่าเพื่อฝากเก็บข้าวในโครงการรับจำนำ โดยในจำนวนนี้มี 127 สัญญาที่ อคส.ได้ตรวจสอบความเสียหายเสร็จแล้ว และจะส่งหนังสือทวงถาม (โนติส) ภายในวันที่ 20 ก.ค.2561 เพื่อให้คู่สัญญามาชดใช้ค่าเสียหาย และที่เหลืออีก 117 สัญญา คาดว่า อคส.จะตรวจสอบความเสียหายและยื่นโนติสให้คู่สัญญาภายในวันที่ 15 ส.ค.2561 ต่อไป

 

"หากคู่สัญญาทั้งหมดไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายได้ตามเวลาที่กำหนด อคส.จะรวบรวมเอกสารและสรุปข้อเท็จจริงเสนอให้พนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาลปกครองต่อไป โดยคาดว่าทั้ง 244 สัญญาจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และดำเนินการได้ก่อนกำหนดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีขีดเส้นตายภายในสิ้นปีนี้" พล.ต.ท.ไกรบุญกล่าว และว่า  ยืนยันว่าทั้ง 244 สัญญาไม่ได้หมดอายุความในเร็วๆ นี้ แต่จะขาดอายุความในวันที่ 1 ม.ค.2563 ส่วนคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรตั้งแต่ก่อนปี 2551/52 อคส.อยู่ระหว่างดำเนินการ และจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

ทั้งนี้ มีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) แจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2557 ให้ อคส.และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) แจ้งความดำเนินคดีสำหรับข้าวในสต็อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2551/52, 2554/55, 2555/56 และ 2556/57 ซึ่งมีคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐานหรือเป็นข้าวเสื่อม ส่งเรื่องให้ อคส.ทราบเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2558 จากนั้น อคส.ได้มีหนังสือ 3 ฉบับ ลงวันที่ 12 ม.ค.2558 ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับคู่สัญญาที่กระทำผิด และดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดดังกล่าวทั้งคดีอาญาและแพ่ง รวม 106 ราย 777 คลังสินค้า

 

โดยหลังจากกองบังคับการปราบปรามได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว ได้ส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งคลังสินค้าที่เป็นสถานที่เกิดเหตุสอบสวน ซึ่งปัจจุบันผลสอบสวนเสร็จแล้ว และพบว่ามีคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนร่วมกระทำผิดด้วย 783 คดี อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รวม 782 คดี มูลค่าความเสียหายประมาณ 100,000 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มูลค่า 62 ล้านบาท

 

เสียหายนับแสนล้าน

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าไม่ปรากฏมีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกระทำความผิดด้วยอีก 101 คดี โดยคดีที่สอบสวนเสร็จและสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการจังหวัดต่างๆ  แล้ว 98 คดี มูลค่าความเสียหายประมาณ 10,000 ล้านบาท และอีก 3 คดี ยังสอบสวนไม่เสร็จ และยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน มูลค่าความเสียหาย 95 ล้านบาท รวมมีคดีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องทั้งหมด 884 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 115,000 ล้านบาท

 

วันเดียวกัน พล.ต.ท.ไกรบุญได้เชิญ ผู้ชนะการประมูลซื้อข้าวสารในสต็อกรัฐบาล ปริมาณ 1.96 ล้านตัน มูลค่ากว่า 10,100 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน 17 ราย ปริมาณ 1.44 ล้านตัน มูลค่า 8,400 ล้านบาท และข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ 11 ราย ปริมาณ 520,000 ตัน มูลค่า 1,700 ล้านบาท ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้เปิดประมูลเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย.2561 มาชี้แจงทำความเข้าใจถึงขั้นตอนการขนย้ายข้าวออกจากโกดังที่เก็บข้าวไปจนถึงปลายทางที่เป็นโรงงานของผู้ซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และโรงงานเอทานอล แต่มีบางรายที่ซื้อแล้วนำไปขายต่อให้ผู้อื่นที่เป็นโรงงานอาหารสัตว์ และผู้ใช้เอทานอล

 

"ได้ย้ำให้ผู้ชนะประมูลเข้าใจว่าในการขนย้ายจะมีเจ้าหน้าที่สายตรวจสุ่มตลอดเส้นทางการขนย้ายข้าวโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ในการขนย้ายจะมีการปิด (ซีล) รถบรรทุกที่ขนข้าวทุกคันตลอดการขนย้าย และทุกคันต้องติดจีพีเอส ระยะเวลาการขนย้ายต้องสอดคล้องกับเวลาการเดินทาง หากตรวจพบว่าใช้เวลามากจนผิดปกติ เจ้าหน้าที่ตำรวจในจุดตรวจสามารถเรียกให้หยุดเพื่อตรวจสอบได้ เพราะที่ผ่านมาเคยมีที่รถไปถึงปลายทางช้ากว่าปกติหลายชั่วโมง แต่เจ้าหน้าที่ไม่รายงานให้ผมทราบ ยังดีไม่มีปัญหาเกิดขึ้น แต่ครั้งนี้ได้กำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวด เกิดอะไรผิดปกติ ต้องรายงานทันที เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าขั้นตอนการขนย้ายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมไม่รั่วไหลเข้าสู่ระบบข้าวปกติ หรือข้าวที่คนบริโภคได้แน่นอน" พล.ต.ท.ไกรบุญระบุ

 

สำหรับคลังสินค้าที่ปลายทางต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) และต้องรายงานข้อมูลสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.pwo.co.th เพื่อรายงานให้เจ้าหน้าที่ อคส.รับทราบ และเมื่อขนย้ายข้าวถึงสถานที่ปลายทางแล้ว อคส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสุ่มตรวจปริมาณข้าวอีกครั้งว่าตรงตามปริมาณการขนย้ายตั้งแต่ต้นทางหรือไม่ หากตรวจพบว่าผู้ซื้อไม่นำข้าวสารเข้าสู่กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมตามที่ได้แจ้งไว้ในวัตถุประสงค์ที่ขอซื้อต้องชำระค่าปรับ 25% ของมูลค่าข้าวสารที่ไม่ได้นำเข้าสู่กระบวนการ และหาก อคส.ยกเลิกสัญญา ผู้ซื้อต้องเสียค่าปรับ 25% ของมูลค่าปริมาณข้าวสารที่ยังไม่ได้รับมอบและขนย้าย รวมทั้งถูกดำเนินคดีแพ่งและอาญาด้วย

 

ข้าว 3 แสนตันส่อมีปัญหา

 

แหล่งข่าวจาก พณ.กล่าวว่า ขณะ นี้ อคส.ได้รายงานปัญหาการรับมอบข้าวสารตามสัญญาประมูลสต๊อกข้าวรัฐบาลเพื่อการบริโภค (กลุ่ม 1) ระหว่างผู้ชนะการประมูล ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ อคส. ล่าสุดพบว่ามีข้าวที่ยังไม่ได้ถูกรับมอบทั้งหมดปริมาณ 7 แสนตัน แบ่งเป็น 4 กรณี คือ คู่สัญญาชำระเงินแล้วแต่ไม่มารับมอบประมาณ 1 แสนตัน, คู่สัญญาไม่ชำระเงินและไม่มารับมอบ 3.5 แสนตัน, คู่สัญญาไม่มารับมอบ เพราะติดปัญหาเรื่องคุณภาพข้าว 2 แสนตัน และที่เหลือติดปัญหาอื่นๆ

 

"ปริมาณข้าวที่ติดปัญหาการไม่มารับมอบ 7 แสนตัน คาดว่าจะมีปริมาณเกือบครึ่งหรือประมาณ 3 แสนตันที่ไม่สามารถรับมอบได้ โดยแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวจะเร่งรัดให้ อคส.ไปดำเนินการเพื่อให้คู่สัญญาเข้ามารับมอบตามสัญญา แต่หากไม่สามารถรับมอบข้าวและทิ้งสัญญา ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนข้าวที่ไม่มารับมอบจะนำมาเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง" แหล่งข่าวกล่าว

 

แหล่งข่าวยอมรับว่า ปัญหาขณะนี้มีปริมาณข้าว 3 แสนตัน ที่คาดว่าจะเคลียร์กันไม่ได้ โดยอนุกรรมการฯ ได้ให้ อคส.ไปดำเนินการสะสางปัญหาให้ได้ก่อน หากมีการทิ้งสัญญาจริง ก็ต้องนำข้าวออกมาประมูลใหม่ ส่วนคู่สัญญาที่ทิ้งสัญญาก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้รายงานให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน นบข.แล้ว โดยได้สั่งการให้ อคส.และ อ.ต.ก.เร่งรัดคู่สัญญามารับมอบข้าวให้หมด รวมทั้งหากต้องฟ้องร้องกับเอกชนคู่สัญญา หรือแม้แต่โกดังกลางและเซอร์เวเยอร์ ก็ให้ดำเนินการฟ้องทั้งคดีอาญาและแพ่ง

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw